แพทย์ผิวหนังเผย อาหารเสริม วิตามิน ไม่มีหลักฐานทางวิชาการว่า รักษาโรคผมบางได้จริง
กรมการแพทย์ โดยสถาบันโรคผิวหนัง เผยอาหารเสริมและวิตามินต่าง ๆ ใช้ช่วยรักษาโรคผมบางไม่ได้ เพราะไม่มีหลักฐานทางวิชาการทางคลินิกว่าสามารถช่วยทำให้ผมบางดีขึ้น มีเพียงหลักฐานทางการศึกษาที่พบว่าอาจจะมีส่วนช่วยเรื่องผมร่วงได้ จำเป็นต้องศึกษาให้มากกว่านี้จึงจะสรุปผลได้
นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า อาหารเสริมและวิตามินสำหรับเส้นผมและผิวหนังเป็นที่นิยมใช้กันมากในปัจจุบันนี้ แต่อาหารเสริมและวิตามินส่วนใหญ่ไม่ได้มีหลักฐานทางวิชาการทางคลินิกว่าสามารถช่วยรักษาผมบางให้ดกหนาขึ้นได้
อาจพบเพียงการทดสอบในสัตว์ทดลองเท่านั้น ไม่ได้มีหลักฐานทางประสิทธิผลและความปลอดภัยในคน ตัวอย่างเช่น วิตามินเอ ยังไม่พบว่ามีหลักฐานทางการศึกษาใดสรุปว่าช่วยในการรักษาโรคผมร่วงได้ ส่วนวิตามินซีมีส่วนช่วยในด้านสุขภาพและการเจริญของเส้นผมให้มีมากขึ้นพบในสัตว์ทดลองแต่ยังไม่พบหลักฐานทางการศึกษาในคน
แพทย์หญิงมิ่งขวัญ วิชัยดิษฐ ผู้อำนวยการสถาบันโรคผิวหนัง กรมการแพทย์ ให้คำแนะนำเพิ่มเติมว่า การมีวิตามินดีต่ำเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ผมร่วงมากขึ้น เช่น โรคผมผลัด, ผมร่วงเป็นหย่อม ๆ และโรคผมบางจากกรรมพันธุ์ในเพศหญิง ผู้ป่วยที่มีภาวะผมร่วงและมีระดับวิตามินดีในเลือดต่ำควรรับประทานวิตามินดีเสริม ส่วนวิตามินอี ผู้ที่รับประทานวิตามินอีมีผมขึ้น ดกหนามากกว่าผู้ที่ไม่รับประทานวิตามินอี แต่ไม่มีความแตกต่างกันในเรื่องน้ำหนักของเส้นผม อย่างไรก็ตาม ควรรอผลการศึกษาที่เก็บรวมรวมข้อมูลมากกว่านี้ ในส่วนของ ไบโอติน (Biotin) ไม่มีผลกับวงจรชีวิตของผมหรือการสร้างต่อมผม ทั้งยังไม่พบรายงานการศึกษาที่แสดงถึงว่าไบโอตินช่วยทำให้ผมขึ้นยกเว้นในผู้ป่วยที่มีภาวะขาดไบโอติน เช่น หญิงตั้งครรภ์หรือมีภาวะการดูดซึมอาหารผิดปกติ สังกะสี (Zinc) ช่วยให้เส้นผมหนามากขึ้นแต่จากการประเมินโดยผู้ป่วยพบว่าไม่มีความแตกต่างทางคลินิก หลักฐานทางการศึกษายังไม่ได้มีจำนวนมากพอที่จะสามารถสรุปพร้อมให้คำแนะนำผู้ป่วยให้รับประทานสังกะสีในทุกรายที่มีผมบางจากกรรมพันธุ์ และภาวะการขาดธาตุเหล็กเป็นสาเหตุของอาการผมร่วงที่พบได้บ่อยที่สุดในผู้หญิง โดยเฉพาะในผู้ที่รับประทานอาหารมังสวิรัติหรือในหญิงที่มีประจำเดือนมาก การรับประทานธาตุเหล็กเสริมจึงอาจมีประโยชน์ในคนที่อาจมีเหล็กต่ำดังสาเหตุข้างต้น
ผู้อำนวยการสถาบันโรคผิวหนัง กล่าวสรุปเพิ่มเติมว่า วิตามินเอและวิตามินซียังไม่มีหลักฐานที่สนับสนุนในการรับประทานเสริมเพื่อช่วยเรื่องผมร่วงในปัจจุบัน แต่พบว่าไบโอติน, วิตามินดีและธาตุเหล็กมีหลักฐานสนับสนุนว่ามีประโยชน์ในคนที่ขาดวิตามินเหล่านี้ ส่วนวิตามินอีและสังกะสีมีเพียงหลักฐานทางการศึกษาที่ผ่านมาแสดงให้เห็นว่าอาจจะมีส่วนช่วยเรื่องผมร่วงแต่ยังไม่มากพอที่จะสรุปผลได้จำเป็นที่ต้องมีการศึกษามากกว่านี้
ที่มา : https://www.hfocus.org/content/2021/05/21637?fbclid=IwAR0LbR8Qh9s9rVo9nwqOB0P28-8t0H4SC4ZBOcyOK63XnJohONLBn0IGlYk
Relate topics
- ฉีดวัคซีนโควิดคนละยี่ห้ออันตรายหรือได้ผล?
- เซี่ยงไฮ้เริ่มฉีดวัคซีนแบบเข็มเดียวจาก 'CanSino'
- สธ. เปิด Call center 180 คู่สาย ตอบปัญหานัดฉีดวัคซีนโควิด ไลน์หมอพร้อม
- สตาร์ทอัพที่เปลี่ยนมลพิษที่สุดในโลกให้เป็นผลกำไรสีเขียว
- ไปรษณีย์ไทยเตือนผู้ใช้ระวังมิจฉาชีพแอบส่งข้อความหลอกลวง
- กรมสรรพากร กระทรวงการคลัง ชี้แจงประเด็นเรื่อง วัคซีนทางเลือกต้องจ่ายแพงกว่า 2,000 บาท เพราะต้องเสียภาษี 2 ครั้ง เป็น 14% ที่เผยแพร่สู่สังคมออนไลน์ จาก
- “สมอ.” ฟัน “Shopee”-ผู้จำหน่ายเครื่องหรี่ไฟ 6 รายขายสินค้าไร้ มอก.
- บริษัทในไทยถูก Ransomware โจมตี แฮกเกอร์ได้ข้อมูลลูกค้า AXA และกรุงไทย-แอกซ่า
- ผลสำรวจชี้ ชาวอเมริกันหันมาใช้ VPN ป้องกันการหลอกลวงและการแฮ็กออนไลน์
- เตือนอย่าใช้เมทิลแอลกอฮอล์ เป็นส่วนผสมแอลกอฮอล์เจล