เผยประชาชน 60% เคยเห็นเฟคนิวส์โควิด แต่ ปชช.ส่วนมากรู้เท่าทันและไม่แชร์ต่อ
เผยผลสำรวจข้อมูลเท็จเกี่ยวกับโควิด-19 บนโซเชียลมีเดีย พบการรู้เท่าทันของประชาชนยังอยู่ในระดับสูง สามารถแยกจริง/เท็จได้ถูกต้องและไม่แชร์ต่อ
น.ส.อรณา จันทรศิริ สำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ (IHPP) เปิดเผยว่า ในสถานการณ์ระบาดของโควิด-19 ทำให้เกิดภาวะข้อมูลล้นทะลักจนประชาชนแยกแยะข้อมูลข่าวสารจริงเท็จได้ยาก กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงดิจิตัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จึงได้ทำการสำรวจการรับรู้ข้อความจริงและเท็จใน 2 สัปดาห์แรกช่วงวันที่ 4-14 พ.ค. และ 16-22 พ.ค. 2563 โดยมีผู้ตอบแบบสอบถามออนไลน์จำนวน 4,100 ราย และ 3,631 ราย ตามรายสัปดาห์ พบว่า ประชาชน 60% เคยพบเจอข้อความเท็จเกี่ยวกับโควิด-19 บนโซเชียลมีเดีย เกือบครึ่งระบุว่าเห็นจากเฟซบุ๊ก
อย่างไรก็ดี จากการวิเคราะห์ดัชนีการรู้เท่าทันข้อความเกี่ยวกับโรคโควิด-19 ของประชาชนอยู่ในระดับสูง 78.2% และ 65.5% (ตามลำดับช่วงการสำรวจวันที่ 4-14 พ.ค. และ 16-22 พ.ค. 2563) โดยคำนวณจากความสามารถในการแยกข้อความจริงและเท็จ และการไม่แชร์ต่อข้อความเท็จ โดยประชาชน 64.2% และ 49.3% สามารถแยกข้อความ “จริง/เท็จ” ได้ถูกต้อง โดยกว่า 95.2% และ 87.0% รู้ว่าเป็นข้อความเท็จแล้วไม่แชร์ต่อ และมีจำนวนไม่มากนักคือ 4.8% และ 13% ที่แชร์ข้อความเท็จ โดยมากกว่า 70% แชร์ต่อทางเฟซบุ๊ค
น.ส.อรณา กล่าวอีกว่า การสำรวจยังพบว่ามีประชาชนจำนวนไม่มากนักที่ปฏิบัติตามข้อความเท็จ (น้อยกว่า 1 ใน 3) โดยเฉพาะข้อความเท็จเกี่ยวกับการทดสอบการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ด้วยการกลั้นหายใจเป็นเวลา 10 วินาที มีผู้ลองทำตามข้อความดังกล่าวถึง 32.4 % แสดงให้เห็นว่าประชาชนไม่สามารถแยกแยะข้อความที่มีรายละเอียดลึกซึ้ง เช่น หากไม่ไอ หรือรู้สึกปกติ แปลว่าไม่ติดเชื้อ, ยาปฏิชีวนะ หรือแอนตี้ไบโอติก สามารถป้องกันและรักษาโรคโควิด-19 ได้ เป็นต้น
น.ส.อรณา กล่าวต่อไปว่า ในส่วนของข้อมูลเท็จที่ผู้ตอบแบบสอบถามเข้าใจผิดมากที่สุดคือเรื่องตำรวจมีอำนาจจับและปรับผู้ที่ไม่สวมหน้ากากอนามัยในที่สาธารณะ มีผู้ตอบแบบสอบถามที่รู้ว่าข้อความดังกล่าวเป็นเท็จเพียง 30.5% เท่านั้น ขณะที่ข้อความเท็จที่ผู้ตอบแบบสอบถามรู้เท่าทันมากที่สุดก็คือเรื่องการดื่มเหล้าช่วยต้านโรคโควิด-19 โดยมีผู้รู้ว่าข้อความนี้เป็นเท็จถึง 85.6%
ทั้งนี้ การสำรวจดังกล่าวจะดำเนินการต่อเนื่องไป 10 สัปดาห์จนถึงกลางเดือน ก.ค. 2563 โดยสามารถติดตามรายงานผลได้ที่ http://www.trueorfalse.ihppthaigov.net
ที่มา : https://www.hfocus.org/
Relate topics
- ข่าวบิดเบือน สูตรยาสมุนไพร 3 แม่ทัพ ใช้รักษาโควิด-19
- เช็กด่วน! หน้ากากอนามัยใช้แล้วห้ามเก็บในบ้านเกิน 7 วัน
- ขบ. จับมือ คปภ. ลดเบี้ยประกันรถที่ได้มาตรฐานคิวมาร์ค 10% หวังช่วย ผปก.ฝ่าโควิด
- จับอีก! อย. ร่วม สตช. ทลายแหล่งลักลอบนำเข้าและแบ่งบรรจุถุงมือใช้แล้วไม่ปลอดภัย ย่านหนองแขม ยี่ห้อ Panyos® และ PURE Glove มูลค่ากว่า 200 ล้านบาท
- ขอผู้บริโภคอย่ากังวล ยังกินปลากระป๋องได้ตามปกติ เชื้อโควิด-19 จะถูกทำลายด้วยความร้อนจากการฆ่าเชื้อในกระบวนการผลิต
- เงินบาทแข็งสุดรอบ7ปี แนะธปท.หยุดแทรกแซง หวั่นสหรัฐขึ้นบัญชีบิดเบือนค่าเงิน
- ไม่เห็นด้วย! ต่อสัญญา BTS 30 ปี
- ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม เตือนอย่าแชร์! 'กองสลากฯ ให้เลขออกรางวัลล่วงหน้ากับคนที่ทำงานในกองสลากฯ' เป็นข้อมูลเท็จ
- Cyberbullying : ระรานออนไลน์ ร้ายล้านวิว
- ข่าวร้ายปลายปี 2563 ไทยแพนพบผักผลไม้ 58.7% พบสารพิษตกค้างเกินมาตรฐาน