ดื่มน้ำอย่างไรให้ร่างกาย "พอ"
เมื่อเอ่ยถึงการดื่มน้ำ มนุษย์ยุคใหม่หลายคนโตมากับปัญหาดื่มน้ำไม่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย ส่วนเหตุของปัญหาหนีไม่พ้นความรู้สึกว่าน้ำนั้นขาดรสชาติ พาให้จืดชืด ไม่น่าสนใจเอาเสียเลย จนบางคนหันไปเอาดีทางกาแฟ (และน้ำอัดลม) แทน เสียแต่ว่ากาแฟและน้ำอัดลมนั้นดื่มได้นิดเดียวก็รู้สึกว่าพอแล้ว เพราะมันมีทั้งคาเฟอีน น้ำตาล นม ครีมผสมอยู่ด้วย สุดท้าย ผลก็กลายเป็นว่าร่างกายก็ได้รับน้ำไม่เพียงพออยู่ดีนั่นเอง
ข้อเสียของการปล่อยให้ร่างกายขาดน้ำนั้นมีมากมาย ทั้งทำให้ผิวพรรณแห้ง หมองคล้ำ กระสับกระส่าย ร่างกายเสียสมดุล บางคนอาจมีอาการตัวร้อน เป็นไข้ ร้อนใน ไม่สบายร่วมด้วย หรือหากเกิดกับเด็กวัยเรียนก็อาจทำให้เด็ก ๆ เรียนหนังสือได้ไม่ดีเท่าที่ควร แต่เราก็สามารถหลีกเลี่ยงปัญหานั้นได้ด้วยการจัดระเบียบชีวิตตัวเองกับ "น้ำ" ดังนี้
1. ทราบปริมาณน้ำที่ร่างกายต้องการ
โดยปกติแล้ว ร่างกายควรได้รับน้ำ 8 แก้วต่อวัน แต่ปริมาณน้ำที่ร่างกายต้องการที่แท้จริงขึ้นอยู่กับปัจจัยอีกหลายประการ เช่น การใช้ชีวิต การทำงาน หากคุณเป็นคนที่ต้องทำงานกลางแดดตลอดวัน ร่างกายก็คงต้องการน้ำมากกว่าคนที่นั่งแต่ในห้องปรับอากาศเป็นแน่ นอกจากนั้นการตั้งครรภ์ หรือการให้นมบุตรก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ต้องนำมาพิจารณาด้วย ซึ่งหากเข้าข่ายดังกล่าว ควรปรึกษาแพทย์เพื่อความมั่นใจถึงปริมาณน้ำที่เหมาะสมที่ร่างกายควรจะได้รับจะดีกว่า
2. กำหนดให้เป็นกิจวัตร
หากคุณพบว่าคุณเป็นคนหนึ่งที่หาเวลาดื่มน้ำได้ยากเหลือเกิน หลังพักเที่ยงนั่งทำงานเพลิน ๆ รู้สึกตัวอีกทีก็ห้าโมงเย็นเลิกงานเสียแล้ว ทำให้ตลอดบ่ายไม่ได้ดื่มน้ำเลยสักหยด ถ้าเป็นเช่นนี้คุณอาจต้องกำหนดเวลาพัก ให้ตัวเองได้ลุกไปยืดเส้นยืดสาย หรือไปดื่มน้ำเสียบ้าง อาจจะทุก ๆ ต้นชั่วโมง หรือตามเวลาที่คุณต้องการ ถ้ากลัวว่าจะลืม ก็หาตัวช่วย เช่น ใช้คอมพิวเตอร์ โทรศัพท์มือถือ นาฬิกา ฯลฯ มาเป็นตัวตั้งเวลาคอยช่วยก็ได้เช่นกัน
3. เพิ่มรสชาติให้น้ำ
การบีบมะนาวลงไปสักนิดในน้ำเย็น ๆ อาจจะช่วยให้น้ำแก้วนั้นน่าดื่มมากขึ้น หรือบางท่านอาจหาชากลิ่นหอม ๆ มาช่วยก็ได้เช่นกัน นอกจากนั้นแล้ว การเปลี่ยนอุณหภูมิของน้ำ เป็นน้ำอุ่นบ้าง น้ำเย็นบ้างก็สามารถทำให้การดื่มน้ำไม่จำเจน่าเบื่อได้ด้วย
4. พกน้ำให้ติดตัว
การพกน้ำใส่ขวดติดตัวไปในที่ต่าง ๆ ก็ช่วยให้คุณมีโอกาสดื่มน้ำได้มากขึ้น และไม่ต้องกังวลถึงคุณภาพเพราะเป็นน้ำจากบ้านของเราเอง
5. เลือกรับประทานอาหารที่มีน้ำเป็นส่วนประกอบ
อาหารที่เรารับประทานเข้าไปล้วนมีน้ำเป็นส่วนประกอบ ส่งผลให้ 20 เปอร์เซ็นต์ของน้ำที่เราได้รับในแต่ละวันมาจากอาหารที่เรารับประทานนั่นเอง ซึ่งถ้าหากคุณเลือกรับประทานอาหารประเภทผัก ผลไม้ให้มาก ๆ ด้วยแล้ว ร่างกายก็ยิ่งจะได้รับน้ำจากอาหารเหล่านั้นมากขึ้น ยกตัวอย่างผักผลไม้ที่มีน้ำเป็นส่วนประกอบ เช่น ส้ม แตงโม มะเขือเทศ ฯลฯ
6. ดื่มน้ำเมื่อเหนื่อยและหิว
บางเวลาที่เรารู้สึกอยากอาหาร แท้จริงแล้วอาจไม่ใช่ความหิว แต่อาจเป็นเพราะร่างกายเรากำลังขาดน้ำอยู่ก็เป็นได้ ดังนั้น ก่อนหาขนมมาใส่ท้อง ลองดื่มน้ำเปล่าสัก 2 แก้วดูก่อน แล้วรอดูผลสักพักว่าหายหิวหรือไม่ ถ้าหายหิวก็แปลว่า ความรู้สึกเมื่อสักครู่นั้นมาจากร่างกายที่กำลังจะขาดน้ำนั่นเอง
7. จิบน้ำยามออกกำลังกาย
การออกกำลังกาย 1 ชั่วโมง คุณอาจเสียน้ำไปมากกว่า 1 ลิตรเลยทีเดียว เพื่อลดการสูญเสียน้ำของร่างกาย การพกกระติกน้ำเล็ก ๆ ติดตัวไว้จิบก็เป็นทางเลือกที่ดี
8. สังเกตความเปลี่ยนแปลงของร่างกาย
หากคุณดื่มน้ำน้อยเกินไป เวลาปัสสาวะสีของปัสสาวะจะเข้ม หรือมีปัสสาวะน้อย และถ้าหากคุณเป็นคนหนึ่งที่ไม่ได้ไปห้องน้ำทุก ๆ 2 - 3 ชั่วโมงแล้วล่ะก็ คุณอาจไม่ได้รับน้ำเพียงพอ การสังเกตอาการต่าง ๆ เหล่านี้ก็ช่วยให้คุณตระหนักได้เช่นกันว่ากำลังดื่มน้ำน้อยไปหรือไม่ นอกจากนั้นคุณยังสามารถสังเกตจากสิ่งอื่น ๆ ได้อีกด้วย เช่น ปากแห้ง อ่อนเพลีย กระสับกระส่าย เป็นต้น
แม้น้ำอาจจะไม่อร่อย และไม่น่าสนใจเท่าอาหารสารพัดชนิดที่มนุษย์ทุกวันนี้นิยมบริโภคกัน แต่ก็อย่าลืมว่า มนุษย์เราไม่สามารถขาดน้ำในการดำรงชีวิตได้ และน้ำเท่านั้นที่จะช่วยดึงความสดชื่น - ฟื้นสมดุลต่าง ๆ ให้ร่างกาย รวมถึงมีส่วนสำคัญในการทำงานของอวัยวะต่าง ๆ ในร่างกาย ดังนั้น อาจจะเป็นการดี หากผู้ที่กำลังมีปัญหาเรื่องการไม่ชอบดื่มน้ำได้หันกลับมามองถึงคุณค่าที่แท้จริงที่ซ่อนอยู่ของ "น้ำ" ให้มากกว่านี้
อ้างอิงข้อมูลบางส่วนจาก ivillage
ที่มา : ผู้จัดการออนไลน์
Relate topics
- Set top box เลือกแบบไหนดี !!(Cyber Weekend)
- “ปรับ-เปลี่ยน-ปลด-ปล่อย” คลิกชีวิต 55 เรื่องดีรับปีใหม่
- ฮั้วหรือไม่
- เรื่องไม่เข้าท่าจากการใช้สมาร์ทโฟนอย่างไม่เข้าที
- ความเข้าใจผิดๆ ต่อยานอกบัญชี ยาที่คนจนไม่มีสิทธิ/คอลัมน์...ได้อย่างไม่เสียอย่าง
- เหตุเกิดบนเครื่องบิน : พลังของหนึ่งเสียงร้องในยุคสังคมออนไลน์ / ประสาท มีแต้ม
- รู้ไว้ใส่ใจก่อนส่ง SMS
- สงคราม ทรู แกรมมี่ หรือละครหลอกคนดู สหพันธ์องค์กรผู้บริโภคชี้ชัดบริการสาธารณะต้องรวมสัญญาณดาวเทียม (1)
- ภัยที่มนุษย์พุ่งใส่...ความไม่มั่นคงทางอาหาร...ภัยคุกคามอนาคตอันไม่ไกล
- กองทุนเดียวด้านสุขภาพ : ชอบกด Like ใช่ “กดดัน”/คอลัมน์ได้อย่าง...ไม่เสียอย่าง