แพ้ยาจากการรักษาพยาบาล ขอรับเงินช่วยเหลือตาม ม.๔๑
ผลการดำเนินงาน... สอบข้อเท็จจริง และทำเอกสารส่ง ฝ่ายหลักประกันสุขภาพจังหวัด เพื่อนำเข้า อนุกรรมการมาตรา 41 สำหรับกรณีนี้ผู้ร้องอุทธรณ์เพื่อให้ได้เงินชดเชยเพิ่มขึ้น โดยผู้ร้องดำเนินการต่อเอง
ข้อสังเกต...กรณีนี้ต้องมีการประสานงานอย่างใกล้ชิด ทั้งนี้ต้องทำความเข้าใจกับผู้ร้องให้เห็นว่า มาตรานี้เพื่อเยียวยาและให้มีข้อมูลสะท้อนกลับเพื่อพัฒนาระบบบริการมากกว่าเป็นการชดเชยความเสียหาย ซึ่งผู้ร้องเข้าใจดี โดยสมาคมฯ เห็นว่าควรมีการทำเวทีเพื่อสร้างความเจ้าใจร่วมกับโรงพยาบาล โดยกระบวนการเรียนรู้ร่วมกัน
๘ สิงหาคม ๒๕๕๔
นางพรสุดา บ้านเลขที่ ๑.... หมู่ที่ ตำบลสทิงหม้อ อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา เบอร์โทรศัพท์ ๐๗๔-๓๓... , ๐๘๙-๐๕.... มีอาชีพค้าขาย ได้เข้ามาร้องเรียนกับทางสมาคมฯ เล่าให้ฟังว่า
- เมื่อวันที่ ๑๕ พฤศจิกายน ๒๕๕๓ คุณพรสุดา ได้เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลสงขลา เนื่องจากผู้ร้องมีตุ่มใส ๆ บริเวณแขน หน้าอก และข้างหลัง ๓ ตุ่มมีลักษณะคล้ายแผลพุพอง แพทย์ตรวจและให้ยามารับประทาน โดยยาที่ได้รับมีตัวยา PREDNISOLONE ๕ กรัม ๒๘ เม็ด ๒x๒ pc และนัดอีกครั้งวันที่ ๑๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๔ แต่เมื่อรับประทานยาแล้วไม่หายและมีอาการเพิ่มขึ้นจึงเข้าไปรับการรักษาอีกครั้ง
- วันที่ ๒๔ มกราคม ๒๕๕๔ ผู้ร้องมีเม็ดขึ้นตามแขน ตัว และบนศีรษะจนเป็นแผล แพทย์ได้ตัดชิ้นเนื้อไปตรวจ ให้ยามาทาที่แผลและให้มาตามนัดเดิม
- วันที่ ๑๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๔ มาตามที่แพทย์นัดเพื่อมาฟังผล แพทย์บอกว่าเป็นภูมิแพ้ผิวหนังและให้ยามาทาน โดยมียา PREDNISOLONE ๕ กรัม ๑๖๘ เม็ด ๑๒x๑ pc เมื่อกลับบ้านไปรับประทานยาตามที่แพทย์สั่งอาการดังกล่าวดีขึ้น แผลที่ศีรษะ เม็ดแดง ผื่นคันเริ่มหาย แต่ถ้าอากาศร้อนยังคงมีอาการคันเล็กน้อย
- วันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๔ ผู้ร้องไปโรงพยาบาลตามแพทย์นัด ได้รับยาต่อโดยบอกว่าอาจจะมีเชื้ออยู่แต่จะลดจำนวนลงให้ คือ PREDNISOLONE ๕ กรัม ๑๘๐ เม็ด ๓x๒ pc หลังอาหารทันที และ PREDNISOLONE ๕ กรัม ๒๔๐ เม็ด ๒x๓ pc เมื่อไปรับยาที่ช่องจ่ายยา เภสัชกรได้ยื่นยาให้และเปลี่ยนตัวเลขการรับประทานยาจากเดิมครั้งละ ๓ เม็ดวันละ ๒ ครั้ง เป็น ครั้งละ ๘ เม็ดวันละ ๒ ครั้ง และจากครั้งละ ๒ เม็ดวันละ ๓ ครั้ง เป็น ครั้งละ ๖ เม็ด วันละ ๓ ครั้ง โดยให้รับประทานยาซองแรกให้หมดก่อนคือซองที่ระบุว่าให้กินหลังอาหารทันทีแล้วค่อยกินยาซองที่สองได้ เมื่อกลับไปรับประทานยาซองแรกได้ ๓-๔ วัน ตัวเริ่มบวมเวลารับประทานยา แล้วจะยุบลงเรื่อยๆ แต่ก็ไม่ได้สนใจเพราะแพทย์บอกว่าจะมีอาการตัวบวมเป็นอาการข้างเคียงจากการรับประทานยา ทำงานไม่ได้ ต้องจ้างลูกจ้าง ๒ คนมาช่วยขายของ
- วันที่ ๑๕ มีนาคม ๒๕๕๔ กินยาซองแรกหมด ตัวเริ่มบวม มีจุดแดงตามแขน ท้อง ข้างหลังและบริเวณหน้าเหมือนยุงกัด
- วันที่ ๑๖ มีนาคม ๒๕๕๔ จึงตัดสินใจไปพบแพทย์ แพทย์วินิจฉัยว่าเป็นลมพิษ หรืออาจจะแพ้อาหาร และได้ถามผู้ร้องว่ารับประทานยาวันละเท่าไหร่ ผู้ร้องได้บอกว่า กินยา ๑๖ เม็ด แพทย์แจ้งว่ากินยา ๑๖ เม็ดถือว่าไม่เกิน จึงให้ยาผู้ร้องกลับไปรับประทานที่บ้าน ผู้ร้องต้องการให้แพทย์ส่งตัวไปยังโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ แต่แพทย์ยังยืนยันว่าจะรักษาให้เอง เมื่อผู้ร้องกลับไปทานยาแล้วก็ยังไม่ดีขึ้น
- วันที่ ๑๗ มีนาคม ๒๕๕๔ กลับไปหาแพทย์อีกครั้งแต่แพทย์ที่รักษาตนไม่อยู่ จึงได้เข้าไปสอบถามว่าเภสัชกรผู้ใดเป็นผู้จ่ายยาให้ ผู้ร้องได้เจอและเภสัชกรผู้นั้นก็ขอโทษที่ได้แก้ไขจำนวนยาให้ผู้ร้องทาน และยังบอกว่าผู้ร้องน่าจะแพ้ยาหรืออาหาร และออกบัตรแพ้ยาให้ แต่เป็นยา Amoxcy ให้แก่ผู้ร้อง ผู้ร้องจึงขอถ่ายสำเนาเวชระเบียนเพราะต้องการที่จะไปรักษาที่โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ นอกจากนั้นเภสัชกรผู้นั้นได้นำซองยามาขีดฆ่า จำนวนครั้งที่ซองยาเก่า แต่ผู้ร้องแจ้งว่าซองยาเก่าไม่ได้รับประทานแล้ว เพราะแพทย์ให้ซองใหม่มา จากการกระทำของเภสัชกรทำให้ผู้ร้องไม่อยากจะเข้ารับการรักษาจากโรงพยาบาลสงขลา
- วันที่ ๑๙ มีนาคม ๒๕๕๔ ผู้ร้องยังอาการไม่ดี จึงโทรไปปรึกษาหมอที่โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ ว่าตนสามารถหยุดยาได้หรือไม่ แพทย์ตอบว่ายาตัวนี้ห้ามหยุดให้กินไปก่อน และให้เข้ามาตรวจเลือด
- วันที่ ๒๐ มีนาคม ๒๕๕๔ เมื่อผู้ร้องเข้าไปเจาะเลือดและพบแพทย์ แพทย์อ่านผลตรวจแล้วบอกว่า มีผลกระทบต่อตับนิดหน่อย เพราะกินยา PREDNISOLONE มากเกินไปจนเข้ากระแสเลือด และให้ใบรับรองแพทย์แก่ผู้ร้อง โดยผู้ร้องต้องเสียเงินค่าตรวจเลือดเอง และในวันรุ่งขึ้น ผู้ร้องได้กลับไปที่ รพ.มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์อีกครั้งเพราะปวดนิ้วที่บวมและเป็นหนองมากจนนอนไม่หลับ ทำงานไม่ได้ เมื่อมาถึง โรงพยาบาลงดรับผู้ป่วยแล้ว จึงไปโรงพยาบาลศิครินทร์แต่ไม่มีแพทย์เฉพาะทาง จึงกลับบ้าน
- วันที่ ๒๒ มีนาคม ๒๕๕๔ ผู้ร้องมาโรงพยาบาลสงขลานครินทร์อีกครั้ง แต่ก็ได้คำตอบว่า คนไข้เต็มไม่รับคนไข้นอกทั้งที่ตนต้องการจ่ายเงินเพื่อรักษาเอง จึงไปโรงพยาบาลกรุงเทพหาดใหญ่ แพทย์ทำการผ่าตัดแผลเป็นหนองที่นิ้วก้อยซ้ายและผลการตรวจเลือดระบุว่าผู้ร้องติดเชื้อแบคทีเรียเข้ากระแสเลือด ถ้ามารักษาไม่ทันจะทำให้เข้าผิวหนังและกระดูกได้
- วันที่ ๒๖ มีนาคม ๒๕๕๔ ผู้ร้องสามารถกลับบ้านได้ แพยท์สั่งยา PREDNISOLONE เม็ดสีชมพู ครั้งละ ๓ เม็ด วันละครั้ง ยาแก้ปวด และยากระเพาะให้ผู้ร้องกลับไปรับประทานที่บ้าน โดยเสียค่าใช้จ่ายไป ๓๐,๐๐๐ กว่าบาท แต่ผู้ร้องสามารถเบิกจากประกันชีวิตได้ ๒๐,๐๐๐ บาท ที่เหลือต้องจ่ายเอง ผู้ร้องกลับบ้านและทำแผลตามความสะดวกของผู้ร้อง เช่น โรงพยาบาลสิงหนคร คลินิก ซึ่งต้องเสียค่าใช้จ่ายเองทั้งสิ้น
- วันที่ ๒ เมษายน ๒๕๕๔ ผู้ร้องรับประทานยาของโรงพยาบาลกรุงเทพหาดใหญ่หมด จึงเข้าไปรักษาตัวต่อที่โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ เพราะยังมีอาการตัวบวม มีขน หนวดขึ้นบนใบหน้า ประจำเดือนไม่มา ๕ เดือน โดยนำเวชระเบียนจากโรงพยาบาลสงขลามาให้แพทย์ดู แพทย์บอกว่าการจ่ายยาแบบนี้อาจจะทำให้ข้อกระดูกเสื่อมและช็อกได้ และบอกกับผู้ร้องว่าอาการต่าง ๆ จะดีขึ้น หลังจากผู้ร้องไปรักษากับโรงพยาบาลศิครินทร์ อาการดีขึ้นเรื่อยๆ จนปัจจุบันหายดีแล้ว แต่ยังคงมีรอยแผลตามใบหน้าและบริเวณท้อง และผู้ร้องต้องจ่ายเงินในการรักษาเองทั้งสิ้น
เมื่อปลายเดือนกรกฎาคม๒๕๕๔ ผู้ร้องได้ยื่นเรื่องไปยังศูนย์รับเรื่อง สปสช. ของโรงพยาบาลสงขลา เพื่อต้องการให้ทางโรงพยาบาลรับผิดชอบในการรักษาที่ผิดพลาด แต่ก็ถูกปฏิเสธ จึงปรึกษากับคนใกล้บ้านซึ่งขับรถสองแถวได้ให้แผ่นพับสมาคมผู้บริโภคที่ได้รับแจกจากตลาดนัดเกาะหมีที่ทางสมาคมฯ ได้ลงไปรณรงค์เผยแพร่
แนวทางการแก้ไข
ปัญหาการได้รับความเสียหายจากการเข้ารับบริการสาธารณสุข ผู้ร้องสามารถร้องเรียนเพื่อขอรับเงินช่วยเหลือเบื้องต้นได้ภายใน ๑ ปี หลังจากทราบความเสียหาย โดยสามารถยื่นเรื่องได้ที่ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดที่เกิดเหตุ ฝ่ายงานประกันสุขภาพ หรือ สปสช.เขตในพื้นที่ กรณีนี้ผู้ร้องยื่นเรื่องร้องเรียนมายังสมาคมผู้บริโภคสงขลา ตามรายละเอียดการดำเนินงาน ดังนี้
๘ สิงหาคม ๒๕๕๔
ผู้ร้องจึงตัดสินใจโทรศัพท์มาปรึกษากับทางสมาคมฯ และแจ้งให้ผู้ร้องรวบรวมเอกสารหลักฐานเข้ามาเขียนเรื่องร้องเรียนที่สมาคมฯ
๑๐ สิงหาคม ๒๕๕๔
ผู้ร้องได้เข้ามาเขียนคำร้องและนำหลักฐานที่มี เช่น ซองยา เวชระเบียน ใบเสร็จค่ารักษาพยาบาล ภาพถ่ายสภาพร่างกายแพ้ยา เมื่อสมาคมฯได้รับเรื่องร้องเรียนและสอบข้อเท็จจริงเพิ่มเติม
๒๒ สิงหาคม ๒๕๕๔ สมาคมฯ ทำจดหมายแจ้งให้กับ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสงขลา (สสจ.) เพื่อให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีดังกล่าว
๒๙ สิงหาคม ๒๕๕๔ ทาง สสจ.โทรแจ้งว่าได้รับเอกสารแล้วและขอข้อมูลผู้ร้องเพิ่มเติม
๑ กันยายน ๒๕๕๔ ทาง สสจ. นัดคุยกับผู้ร้องเพื่อสอบข้อมูลเพิ่มเติม หลังจากนั้นเงียบหาย
๒๐ ตุลาคม ๒๕๕๔ สมาคมฯ โทรหาผู้ร้องและแจ้งว่าตนไม่ได้รับการติดต่อกลับจาก สสจ.เลยหลังไปให้ข้อมูลเพิ่มเติมแล้ว
๒๗ ตุลาคม ๒๕๕๔ สมาคมฯ โทรสอบถามทาง สสจ.แจ้งว่าคณะกรรมการพิจารณาให้ความช่วยเหลือเบื้องต้นจำนวน ๒๐,๐๐๐ บาท เพราะผู้ร้องได้รับผลข้างเคียงจากการรักษาพยาบาลโดยการทานยา เท่านั้น
๑ พฤศจิกายน ๒๕๕๔ สสจ.ส่งจดหมายแจ้งการดำเนินงานให้กับสมาคมฯ ทางสมาคมฯ โทรแจ้งผู้ร้อง ผู้ร้องไม่พอใจ จะเข้าไปอุทธรณ์ต่อที่ สสจ.ในวันรุ่งขึ้น
๒ พฤศจิกายน ๒๕๕๔ ผู้ร้องเข้าไป สสจ.เพื่อยื่นอุทธรณ์เพิ่มเงินช่วยเหลือเบื้องต้นอีก ๓๐,๐๐๐ บาท
๓๐ มีนาคม ๒๕๕๕ สมาคมฯ โทรสอบถามความคืบหน้ากับผู้ร้อง และแจ้งว่าตั้งแต่ไปรับเงินและอุทธรณ์ต่อ สสจ. ยังไม่ได้รับการติดต่อกลับ แต่ตนเข้าใจว่าคงจะอุทรไม่ได้เพราะรับเงินชดเชยแล้ว
๑๑ พฤษภาคม ๒๕๕๕ ติดต่อไปยัง สสจ.เพื่อสอบถามรายละเอียด
๒๖ พฤษภาคม ๒๕๕๕ สสจ.แจ้งว่ารอคณะกรรมการส่วนกลาง ส่งจดหมายมาให้ ซึ่งคณะนี้อยู่ระหว่างการปรับเปลี่ยนคณะกรรมการ สมาคมฯ แจ้งไปยังผู้ร้องเพื่อรับทราบ
๒๓ มิถุนายน ๒๕๕๕ ผู้ร้องแจ้งว่า สสจ.โทร.แจ้งผู้ร้องว่าอุทธรณ์ได้แล้วและได้รับเงินช่วยเหลือเพิ่มเติมตามที่ผู้ร้องได้อุทธรณ์ไว้ที่ ๓๐,๐๐๐ บาท รวมทั้งสิ้น ๕๐,๐๐๐ บาท
๒๗ มิถุนายน ๒๕๕๕ สสจ.แจ้งให้เข้าไปรับเงินที่ได้อุทธรณ์ไว้ และสมาคมฯ ได้แจ้งกับผู้ร้องและชี้แจงรายละเอียดให้กับผู้ร้องได้รับทราบว่ากรณีนี้ตามหลักยังไม่เข้า ม.๔๑ แต่กรรมการก็พิจารณาให้
ผู้ร้องพอใจในการดำเนินงาน
Relate topics
- การประชุมคณะอนุกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชนด้านสื่อและโทรคมนาคม ครั้งที่7/2561
- อบรมเชิงปฏิบัติการกรรมการทวงหนี้ เรื่อง "พระราชบัญญัติการทวงถามหนี้ พ.ศ.2558"
- ร้องนายกฯดันร่างพ.ร.บ.องค์การคุ้มครองผู้บริโภค
- การบินไทย ปล้นที่นั่งผู้โดยสาร (เรื่องเล่าผู้บริโภค)
- ไม่ได้ใช้บริการแต่ถูกเรียกเก็บเงิน
- ร้องการไฟฟ้า กระแสไฟตก ทำเครื่องใช้ไฟฟ้าเจ๊ง
- ซื้อรถมือสอง ไม่ได้มาตรฐาน..ผู้บริโภคจะทำอย่างไร
- จ่ายผิดมาตั้งนาน...ผู้บริการทำไมไม่บอก
- กรณี เรื่องร้องเรียน การคิดค่าบริการผิดพลาดบริการเสริม (SMS 5,000 บาท)
- กรณีร้องเรียน มาตรฐานการให้บริการ (หลังการขาย)