กองทุนเดียวด้านสุขภาพ : ชอบกด Like ใช่ “กดดัน”/คอลัมน์ได้อย่าง...ไม่เสียอย่าง
เราทุกคนเคยเจ็บป่วยและได้รับการรักษาจากโรงพยาบาล แต่เคยตั้งข้อสังเกตไหมครับว่า ในการดูแลรักษาคนป่วยแต่ละสิทธินั้น มีความเหลื่อมล้ำกันอยู่ ยกตัวอย่างง่ายๆ เรื่องยา ถ้ามีคนป่วยด้วยไข้หวัดใหญ่ 3 ราย รายแรก ใช้สิทธิบัตรทอง รายที่สอง ใช้สิทธิประกันสังคม และรายสุดท้าย ใช้สิทธิสวัสดิการข้าราชการ ผู้ป่วยที่จะได้รับยามากที่สุด ก็คือ ผู้ป่วยที่ใช้สิทธิสวัสดิการข้าราชการ ส่วนผู้ป่วยที่จะได้รับยาน้อยที่สุดคือผู้ป่วยที่ใช้สิทธิบัตรทองครับ ผมจะยังไม่พูดถึงว่าได้รับยามากหรือน้อยอันไหนดีกว่ากัน ขอยกไปพูดฉบับหน้า แต่ฉบับนี้ขออนุญาตพูดถึงที่มาที่ไปของการจ่ายยาให้กับผู้ป่วยเพื่อให้เห็นภาพรวมระบบบริหารจัดการด้านสุขภาพของประเทศ
รัฐมีระบบการบริหารจัดการสุขภาพของคนไทยอยู่ 3 กองทุนหลักๆ คือ กองทุนสวัสดิการข้าราชการซึ่งมีคนที่ต้องดูแลอยู่ 4.9 ล้าน คน กองทุนประกันสังคมซึ่งมีคนที่ต้องแลดูแล 9.4 ล้านคน และกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) มีคนอยู่ภายใต้การดูแล 47.7 ล้านคน อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาการสนับสนุนงบประมาณของรัฐในแต่ละกองทุน ก็จะพบว่า กองทุนสวัสดิการข้าราชการและกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาตินั้น รัฐสนับสนุนงบประมาณทั้งหมด แต่สำหรับกองทุนสวัสดิการข้าราชการนั้นรัฐให้งบสนับสนุนแบบไม่จำกัดเพดาน หมายความว่า หากข้าราชการมีค่าใช้จ่ายในการรักษาสุขภาพเท่าไหร่รัฐก็เป็นผู้จ่ายให้ทั้งหมดโดยไม่มีเงื่อนไข ส่วนกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาตินั้นรัฐให้การสนับสนุนแบบมีเพดานการจ่าย โดยคิดเป็นค่าเหมาจ่ายรายหัวอยู่ที่ 2939.73 บาท/ปี สำหรับกองทุนประกันสังคมนั้นเงินสนับสนุนมาจาก 3 ส่วน คือ รัฐบาล นายจ้าง และลูกจ้าง โดยรวมกันคิดเป็นค่าใช้จ่ายการรักษาอยู่ที่รายละ 1,938 บาท/ปี
ด้วยการสนับสนุนงบประมาณที่ไม่เท่ากันของรัฐและจำนวนผู้คนที่แต่ละกองทุนต้องดูแลซึ่งก็มากน้อยต่างกันไปอีก โรงพยาบาลซึ่งได้รับงบค่ารักษาแบบเหมาจ่ายตามจำนวนต่อหัวประชากรจาก สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช). จึงจำเป็นต้องบริหารจัดการงบประมาณที่มีอยู่ไม่ให้ขาดทุน และทำให้มีเงินเหลืออยู่มากที่สุด ซึ่งส่งผลกระทบต่อความเคยชินทั้งต่อแพทย์และผู้ป่วย คิดภาพตามครับว่า กองทุนที่มีเงินชัดเจน รู้ชัดว่าได้เท่าไรต่อปี จะจ่ายยาแต่ละครั้งหมอก็ต้องเลือกจ่ายยาที่จำเป็นจริงๆ จะให้วิตามิน อาหารเสริมเหมือนที่แล้วๆ มาคงไม่ได้แล้ว ส่วนผู้ป่วยเมื่อได้รับยาน้อยลงก็คิดว่าสิทธิการรักษาของตนไม่ดี สู้สิทธิอื่นๆ ที่ได้ยาเยอะๆ ไม่ได้
พอเอาเรื่องกำไร-ขาดทุนมาผูกกับเรื่องสุขภาพ ก็เกิดคำถามตามมาว่า แล้วประชาชนที่อยู่ภายใต้การดูแลของกองทุนต่างๆ จะได้รับการรักษาที่มีคุณภาพไหม? คำตอบก็คือ แต่ละกองทุนจะมีกลไกตรวจสอบอยู่ครับ แต่กลไกของแต่ละกองทุนก็ “เข้มแข็ง” ไม่เท่ากันอีก ประชาชนในแต่ละกองทุนจึงต้องรับสภาพการรักษาที่เหลื่อมล้ำไม่เท่าเทียม
จริงๆ เรื่องนี้มีทางออก หากไม่ต้องการให้เกิดความเหลื่อมล้ำในการดูแลสุขภาพของคนในประเทศ รัฐบาลจะต้องจัดสรรงบประมาณให้กับทุกคนอย่างเท่าเทียม ไม่ต้องให้มีคนกลุ่มไหนต้องการจ่ายสมทบค่ารักษา รวมทุกกองทุนด้านสุขภาพเข้าด้วยกัน แล้วบริหารจัดการแบบเฉลี่ยทุกข์-เฉลี่ยสุข งบที่รัฐจ่ายให้แต่ละกองทุนในขณะนี้ มากพอที่จะทำให้ทุกคนได้รับการรักษาที่มีคุณภาพอย่างเท่าเทียมโดยไม่ต้องให้ประชาชนสมทบจ่าย ไม่ว่าจะเป็นกรณี 30 บาท หรือการต้องจ่ายสมทบของคนงานในระบบประกันสังคม
เรื่องนี้ผมเชื่อว่า “รัฐทำได้ครับ” หากตั้งอยู่บนฐานความคิดความเชื่อร่วมกันว่า ประชาชนทุกคนในประเทศนี้เป็น “คน” เท่ากัน และถ้ารัฐบาลนี้ต้องการสร้างความเป็นธรรมลดความเหลื่อมล้ำ
เสนอมาแบบนี้ ถ้าคุณผู้อ่านชอบก็กด “Like” ถ้าคิดว่าใช่ก็ช่วยกันกดดัน “รัฐบาล” ครับผม
ที่มา : คอลัมน์ได้อย่าง...ไม่เสียอย่าง ASTVผู้จัดการออนไลน์ 29 พฤษภาคม 2555
Relate topics
- Set top box เลือกแบบไหนดี !!(Cyber Weekend)
- “ปรับ-เปลี่ยน-ปลด-ปล่อย” คลิกชีวิต 55 เรื่องดีรับปีใหม่
- ฮั้วหรือไม่
- เรื่องไม่เข้าท่าจากการใช้สมาร์ทโฟนอย่างไม่เข้าที
- ความเข้าใจผิดๆ ต่อยานอกบัญชี ยาที่คนจนไม่มีสิทธิ/คอลัมน์...ได้อย่างไม่เสียอย่าง
- เหตุเกิดบนเครื่องบิน : พลังของหนึ่งเสียงร้องในยุคสังคมออนไลน์ / ประสาท มีแต้ม
- ดื่มน้ำอย่างไรให้ร่างกาย "พอ"
- รู้ไว้ใส่ใจก่อนส่ง SMS
- สงคราม ทรู แกรมมี่ หรือละครหลอกคนดู สหพันธ์องค์กรผู้บริโภคชี้ชัดบริการสาธารณะต้องรวมสัญญาณดาวเทียม (1)
- ภัยที่มนุษย์พุ่งใส่...ความไม่มั่นคงทางอาหาร...ภัยคุกคามอนาคตอันไม่ไกล