เริ่ม 16 กย. !!! รถคันแรกป่วน!ลิสซิ่งหวั่นเสี่ยงเมินปล่อยกู้

by watcher @15 ก.ย. 54 10:19 ( IP : 113...88 ) | Tags : ข่าวด่วน , รถคันแรก , กู้ , ลิสซิ่ง
photo  , 500x275 pixel , 36,506 bytes.

ข่าวกรุงเทพธุรกิจ..โครงการรถคันแรกคืนภาษีสูงสุด1แสนบาท'โปรตอน-ทาทา'ร้องขัดเสรีกรอบเออีซี-'ลิสซิ่ง'อาจไม่ปล่อยกู้เหตุเสี่ยงหนี้เสียสูงเกณฑ์ห้ามโอนกรรมสิทธิ์ 5ปี นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า เมื่อวานนี้ (14 ก.ย.) ได้เรียกผู้ที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมรถยนต์ทั้งจากสมาคมอุตสาหกรรมยานยนต์ สมาคมประกันวินาศภัย และสมาคมธุรกิจเช่าซื้อ มารับฟังแนวปฏิบัติต่อนโยบายลดหย่อนภาษีสรรพสามิตสำหรับผู้ซื้อรถยนต์คันแรก ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติไปเมื่อวันที่ 13 ก.ย.ที่ผ่านมา เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ตรงกันระหว่างผู้ปฏิบัติ คือ กรมสรรพสามิตและผู้ประกอบการอุตสาหกรรมรถยนต์ต่างๆ


"นโยบายนี้ ทำขึ้นเพื่อให้เกิดประโยชน์และให้โอกาสแก่ประชาชนผู้ซื้อ การคืนภาษีจะคืนให้กับผู้ซื้อ ไม่ได้คืนให้กับสถาบันการเงินผู้ปล่อยสินเชื่อ แม้สถาบันการเงินจะเป็นเจ้าของตามกฎหมายในระหว่างการผ่อนชำระของผู้ซื้อก็ตาม" นายบุญทรงกล่าว มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 13 ก.ย. 2554 ให้กรมสรรพสามิตลดหย่อนภาษีสรรพสามิตตามจริงไม่เกิน 1 แสนบาท สำหรับผู้ที่ซื้อรถยนต์คันแรกในราคาไม่เกิน 1 ล้านบาท มีขนาดไม่เกิน 1500 ซีซี ระยะเวลาตั้งแต่วันที่ 16 ก.ย. 2554 ถึง 31 ธ.ค. 2555 ภายใต้เงื่อนไขต้องเป็นรถที่ผลิตในประเทศเท่านั้น และผู้ซื้อไม่สามารถเปลี่ยนแปลงกรรมสิทธิ์ในระยะเวลา 5 ปี โดยจะได้รับเงินภาษีคืนภายใน 1 ปีนับจากวันที่ยื่น คาดว่าโครงการนี้รัฐบาลจะสูญรายได้ประมาณ 3 หมื่นล้านบาท จากยอดรถที่คาดว่าจะขายได้เพิ่มขึ้น 5 แสนคัน


โปรตอน-ทาทาร้องขัดเออีซี แหล่งข่าวจากอุตสาหกรรมรถยนต์ เปิดเผยกับ "กรุงเทพธุรกิจ" ถึงผลการหารือระหว่างผู้ผลิตรถยนต์และกระทรวงการคลัง ในเรื่องแนวทางปฏิบัติการคืนภาษีรถยนต์คันแรก ที่กระทรวงการคลังวานนี้ ว่า ผู้ผลิตรถยนต์โดยเฉพาะค่าย ทาทา มอเตอร์ส จากอินเดีย ได้หยิบยกประเด็นที่สำคัญมาหารือ เนื่องจากเงื่อนไขหนึ่งของรถยนต์คันแรกกำหนดว่า ต้องเป็นรถที่ประกอบภายในประเทศเท่านั้น ทำให้รถยนต์ทาทา และโปรตอน จากมาเลเซีย ที่มีราคาต่ำกว่า 1 ล้านบาท  และมีเครื่องยนต์ต่ำกว่า 1500 ซีซี ไม่สามารถเข้าข่ายเงื่อนไขนี้ได้ มาตรการนี้จึงขัดต่อแนวทางการเปิดการค้าเสรีอาเซียน และประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ที่ต้องการให้ลดการกีดกันทางการค้าลง


แหล่งข่าว กล่าวว่า ค่ายรถยนต์โปรตอนจากมาเลเซีย จะมีการเคลื่อนไหวผ่านสถานทูตมาเลเซีย ประจำประเทศไทย เพื่อให้ทบทวนเงื่อนไข เนื่องจากรถยนต์มาเลเซียได้รับผลกระทบโดยตรง และคาดว่าจะนำมาสู่การที่มาเลเซียโจมตีประเทศไทย ในเรื่องของการกีดกันทางการค้า โดยก่อนหน้านี้ไทยได้ผลักดันให้มาเลเซียลดการสนับสนุนรถยนต์โปรตอนในประเทศ เนื่องจากเห็นว่าเป็นการกีดกันทางการค้า


ในขณะที่รถยนต์ทาทา ที่มีแผนจะเปิดตัวรถเล็กรุ่น นาโน ในช่วงปลายปีนี้ และมีระดับราคาจำหน่ายประมาณ 3 แสนบาท แต่ไม่ได้รับสิทธิในการเข้าร่วมโครงการนี้ อาจต้องเลื่อนการเปิดตัวออกไป ทั้งที่มีความพร้อมในการทำตลาด ซึ่งเหตุการณ์นี้อาจจะมีผลกระทบต่อแผนของทาทาที่จะใช้ไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตรถยนต์ เพื่อทำตลาดในอาเซียน รวมถึงค่ายฮุนได มีแผนจะเปิดตัวรถเล็กรุ่น ไอ 10 (i 10) ในปลายปีนี้ ก็อาจจะทบทวนแผนการใหม่ทั้งหมด


ชี้กระทบโครงสร้างอุตฯ ยานยนต์
ทั้งนี้ ทาทาให้เหตุผลว่าโครงการรถคันแรก รัฐบาลออกนโยบายนี้มาเพื่อที่จะให้คนได้ซื้อรถในราคาถูก แต่รถอย่าง ทาทา โปรตอน ซึ่งเป็นรถราคาถูกกลับไม่ได้รับการสนับสนุน และยังขัดต่อหลักการเปิดตลาดเสรีอาเซียนด้วย ซึ่งข้อเท็จจริงแล้วต้องแยกกันระหว่างการส่งเสริมอุตสาหกรรมในประเทศกับการสนับสนุนให้คนซื้อรถคันแรก เพราะในนโยบายรัฐที่ผ่านมา รัฐได้ออกมาตรการสนับสนุนอยู่แล้ว เช่น สิทธิประโยชน์ของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ที่ให้ต่อผู้ผลิต ดังนั้น การกำหนดแบ่งระหว่างรถประกอบในประเทศ หรือซีเคดี กับรถนำเข้าสำเร็จรูป หรือซีบียู โดยการมติ ครม.ล่าสุดนั้น จึงเท่ากับเป็นการกีดกันทางการค้า


"มาตรการของรัฐบาลดำเนินนโยบายเหมือนลิงแก้แห นอกจากจะกระทบในการจัดจำหน่ายแล้ว ยังส่งผลกระทบกับโครงสร้างอุตสาหกรรมใหญ่ของประเทศด้วย เนื่องจากถ้าพิจารณาจากอัตราการคืนภาษี จะเห็นว่ารถเก๋งจะได้รับเม็ดเงินคืน 1 แสนบาทเต็ม ขณะที่อุตสาหกรรมรถปิกอัพ ซึ่งเป็นโปรดักท์แชมเปียน กลับได้เงินคืนเพียงหมื่นกว่าบาทเท่านั้น ผู้ผลิตก็จะย้ายศักยภาพการผลิตมา ผลักดันรถเก๋งมากกว่าปิกอัพแทน และจะทำให้โครงสร้างอุตสาหกรรมบิดเบือนไป"


ทำลายตลาดรถมือ 2 แหล่งข่าวกล่าวว่า นอกจากนี้ มาตรการดังกล่าวยังเป็นการทำลายตลาดของรถยนต์มือสองอย่างชัดเจน เนื่องจากมูลค่ารถยนต์หายในสต็อกหายไปทันที 1 แสนบาท ดังนั้น รัฐบาลควรหารือกับผู้ประกอบการก่อนที่จะประกาศมาตรการใด ไม่ใช่ประกาศแล้วค่อยแจ้งให้ทราบ เนื่องจากในภาคปฏิบัติทำไม่ได้หลายอย่าง รวมถึงกระทบต่อการขยายตัวของอุตสาหกรรมในวงกว้าง ทั้งนี้ จากการหารือ กระทรวงการคลังไม่ได้ชี้แจงเหตุผลและแผนการแก้ปัญหาใดๆ เพียงแต่แจ้งให้ทราบว่าอาจจะนัดผู้ประกอบการเข้าพบอีกครั้งในเร็วๆ นี้


ลิสซิ่งแย้มไม่ปล่อยกู้ แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า การหารือร่วมวานนี้ซึ่งมีผู้ประกอบการ สถาบันการเงิน และผู้ผลิตและผู้จัดจำหน่าย เช่น โตโยต้า ฟอร์ด เข้าร่วมหารือนั้น สมาคมผู้ให้บริการสินเชื่อเช่าซื้อ (ลิสซิ่ง) ว่า เงื่อนไขของกระทรวงการคลังไม่เอื้อต่อให้เกิดการปฏิบัติ และจะส่งผลกระทบต่อสถาบันการเงินที่ให้ปล่อยกู้สินเชื่ออย่างรุนแรง ตัวแทนของสมาคมสินเชื่อเช่าซื้อได้ยกตัวอย่างเรื่องของการคืนเงิน 1 แสนบาทในระยะเวลา 1 ปีหลังการซื้อรถว่า ถ้าหากให้ผู้ซื้อรถยนต์ถือครองรถยนต์ 5 ปี แต่เกิดการขาดส่ง 3 งวด ทางไฟแนนซ์จะต้องเข้าไปยึดรถคืน แต่เงื่อนไขระยะเวลา 5 ปี จะทำให้ไม่ไฟแนนซ์ไม่สามารถนำรถออกขายทอดตลาดได้


ดังนั้น ไฟแนนซ์จะต้องแบกรับภาระส่วนค่าเสื่อม ซึ่งเชื่อว่าไม่มีไฟแนนซ์รายใดให้ลูกค้าเช่าซื้อได้ โดยสมาคมได้เสนอแนวคิดเพื่อป้องกันความเสียหายว่า ควรจะให้ไฟแนนซ์ถือเช็คคืนภาษี 1 แสนบาทไว้แทนที่จะให้ลูกค้าถือ ในขณะที่กระทรวงการคลังชี้แจงว่า ข้อเสนอของไฟแนนซ์ไม่สามารถทำได้ เนื่องจากต้องการให้ผลประโยชน์ตกอยู่กับผู้ซื้อโดยตรง


"รถยนต์ 1500 ซีซี ปกติใช้เงินดาวน์เพียง 8 หมื่นบาท ก็สามารถออกรถได้ แต่ถ้าผ่อน 2 ปีแล้วถูกยึด ไฟแนนซ์ก็ต้องรับความเสี่ยงไปจนถึง 5 ปี ในขณะที่ไม่มีหลักประกันได้ว่า เงิน 1 แสนบาท จะมาช่วยความเสี่ยงของไฟแนนซ์ ถ้าปล่อยสินเชื่อไป อาจจะมีการดาวน์และทิ้งรถให้ไฟแนนซ์ยึดจำนวนมาก ซึ่งเป็นการเสี่ยงในเรื่องการสูญเสียอย่างใหญ่หลวง จากเงื่อนไขของการโอนทะเบียนรถไม่ได้ ภายใน 5 ปีตามมติ ครม." แหล่งข่าวกล่าว


เบนซ์ เอ็น.เค. ชี้ กระทบช่วงแรก ด้านนายก่อเกียรติ กฤษดาธานนท์ ประธาน บริษัท เอ็น.เค. คาร์ พลาซ่า จำกัด (เบนซ์ เอ็น.เค.) ผู้นำตลาดรถเบนซ์มือสองของไทย ให้ความเห็นว่า นโยบายของรัฐบาลในเรื่องของรถยนต์คันแรกนั้น เชื่อว่าจะกระทบต่อตลาดรถยนต์มือสองในช่วงแรก เนื่องจากผู้ซื้อจะมุ่งไปใช้สิทธิดังกล่าว อาจส่งผลให้ตลาดรถมือสองชะลอตัวไปบ้าง แต่เชื่อว่าจากนั้นทุกอย่างจะกลับสู่สภาพเดิมหรือเป็นไปตามกลไกตลาด


"ลักษณะนี้ผมเชื่อว่าจะคล้ายกับอีโคคาร์ ที่ในช่วงแรกผู้บริโภคก็แห่ไปซื้อ แต่ผู้ผลิตๆ ให้ไม่ทัน และยอดจองค้างหลายเดือน สุดท้ายบางรายก็รอไม่ไหวหันมาซื้อรถมือสอง และทุกอย่างก็กลับเข้าสู่ปกติ ขณะเดียวกัน นโยบายนี้เป็นการกระตุ้นกับผู้ซื้อรถคันแรก ลูกค้าเป็นกลุ่มระดับล่าง ไม่น่าจะกระทบกับมือสองมากนัก กลุ่มที่ชอบซื้อรถมือสองก็ยังมีอยู่มาก น่าจะเป็นคนละตลาดกัน" นายก่อเกียรติกล่าว

[ที่มา กรุงเทพธุรกิจ] (http://www.bangkokbiznews.com/home/detail/finance/finance/20110915/409490/%E0%B8%A3%E0%B8%96%E0%B8%84%E0%B8%B1%E0%B8%99%E0%B9%81%E0%B8%A3%E0%B8%81%E0%B8%9B%E0%B9%88%E0%B8%A7%E0%B8%99!%E0%B8%A5%E0%B8%B4%E0%B8%AA%E0%B8%8B%E0%B8%B4%E0%B9%88%E0%B8%87%E0%B8%AB%E0%B8%A7%E0%B8%B1%E0%B9%88%E0%B8%99%E0%B9%80%E0%B8%AA%E0%B8%B5%E0%B9%88%E0%B8%A2%E0%B8%87%E0%B9%80%E0%B8%A1%E0%B8%B4%E0%B8%99%E0%B8%9B%E0%B8%A5%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%A2%E0%B8%81%E0%B8%B9%E0%B9%89.html)

Relate topics

Comment #1สอบถามครับ
top (Not Member)
Posted @12 พ.ย. 54 12:54 ip : 180...202

ซื้อผ่อนเข้าลิสซิ่ง โตโยต้า ยาลิสเมื่อเดือน ตุลาคม 2554 จังหวัดสุรินทร์ ตอนนี้เซลสฺ์บอกลดหย่อนคืนเงินรถคันแรกได้ ซ์้อเสร็จ ลิสซิ่งบอกต้องซื้อเงินสด ถึงจะอนุมัติให้ ถามเซลส์ เซลส์ไม่รับรู้เพราะซ์้อแล้วรับรถแล้ว ถามสรรพาสามิต บอก ต้องให้ลิสซิ่งอนุมัติก่อน            สรุปโดนหลอกไหมนี่

Comment #2สอบถามครับ
top (Not Member)
Posted @12 พ.ย. 54 12:54 ip : 180...202

ซื้อผ่อนเข้าลิสซิ่ง โตโยต้า ยาลิสเมื่อเดือน ตุลาคม 2554 จังหวัดสุรินทร์ ตอนนี้เซลสฺ์บอกลดหย่อนคืนเงินรถคันแรกได้ ซ์้อเสร็จ ลิสซิ่งบอกต้องซื้อเงินสด ถึงจะอนุมัติให้ ถามเซลส์ เซลส์ไม่รับรู้เพราะซ์้อแล้วรับรถแล้ว ถามสรรพาสามิต บอก ต้องให้ลิสซิ่งอนุมัติก่อน            สรุปโดนหลอกไหมนี่